คนท้องเครียด นอนไม่หลับ เสี่ยงแท้งลูก จริงหรือไม่?

Sick pregnant woman on bed

ทำไมคนท้องร้องไห้บ่อย ร้องไห้ง่าย ให้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

คนท้อง ร้องไห้บ่อย ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เพราะระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้น อารมณ์แม่ก็จัดเต็มตามไปด้วย เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย อารมณ์สวิงไปมา และยากที่จะควบคุมได้ โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรก ที่กำลังท้องอ่อน ๆ นอกจากนี้ อาการที่เกิดจากการตั้งครรภ์ อาทิ อาการคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ นอนน้อย ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย พวกนี้ก็ส่งผลทำให้คนท้องเบื่อ เหนื่อย เครียด!

สำหรับคนท้องบางคน ก็จะมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นครั้งคราว ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ นั่นก็เพราะตอนท้อง ร่างกายของแม่ท้องเปลี่ยนไปมากมาย ความรู้สึกไม่ชอบรูปร่างตัวเองก็เกิดขึ้น พบกับปัญหาผิวแตกลาย คอดํา รักแร้ดํา หัวนมดำ จนหงุดหงิด ไหนจะความเจ็บปวดของร่างกาย ปวดเมื่อยเนื้อตัว เดินไม่ถนัด เจ็บตรงโน้นตรงนี้ สิ่งเหล่านี้ก่อตัวเป็นความเครียดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

ความเครียดของแม่ท้องส่งผลต่อทารกในครรภ์

ภาวะเครียดของแม่ ทำให้สารเคมีและฮอร์โมนที่เกิดจากความเครียดหลั่งออกมามาก ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปยังมดลูกและรกเกิดการหดตัว ปริมาณออกซิเจนที่ไปยังทารกในครรภ์ลดน้อยลง จึงเกิดอันตรายและความเสี่ยงมากมาย ดังนี้

  • เกิดการแท้ง
  • ทารกเติบโตช้าในครรภ์
  • ทารกติดเชื้อในครรภ์สูงขึ้น
  • มีรายงานว่าทารกที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะเครียด ในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในการตั้งครรภ์ช่วงแรกจะมีอารมณ์ซึมเศร้า และไวต่อการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
  • ผลที่เกิดกับทารกในระยะยาว จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น
  • ส่งผลถึงปัญหาทางจิตใจ และการปรับตัวทางสังคมตามมา

ทารกในครรภ์เริ่มรับรู้อารมณ์ เมื่ออายุครรภ์ 6 เดือน

จากงานวิจัยของ Psychological Science พบว่า เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 6 ลูกในครรภ์จะสามารถรับรู้อารมณ์ของคุณแม่ได้ และผลกระทบนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นด้วยนะคะ เพราะอารมณ์ที่คุณแม่รู้สึกนั้นจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดทัศนคติของลูกด้วย

เมื่อคุณแม่เครียด ร่างกายของคุณแม่จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา แม้ว่าอารมณ์ของคุณแม่จะส่งผ่านถุงน้ำคร่ำไปหาลูกไม่ได้ แต่ฮอร์โมนของคุณแม่สามารถทำได้ เครียดเป็นครั้งคราวลูกได้รับฮอร์โมนเป็นครั้งคราว ไม่เป็นไร แต่ถ้าลูกได้รับฮอร์โมนนี้บ่อย ๆ เข้า ลูกก็จะมีอาการเครียดเรื้อรัง แถมยังทำให้ลูกมีอาการโคลิคเมื่อคลอดออกมาแล้วด้วย โดยฮอร์โมนแห่งความเครียด หรือ คอร์ติซอล (cortisol) ถ้าร่างกายได้รับบ่อย ๆ หรือได้รับมากไป นอกจากจะทำให้เป็นโรคอ้วนแล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานของสมองอีกด้วย ทำให้สมองส่วนฮิปโปแคมปัส ที่เกี่ยวข้องการเรียนรู้ ความจำต่าง ๆ ทำงานลดลง

ถ้าคุณแม่เครียดมากๆ อาจทำให้แท้งได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ หรือทำให้อาหารไปเลี้ยงลูกไม่พอ การเจริญเติบโตของเด็กจึงช้าและมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด เมื่อคลอดแล้วยังส่งผลให้เด็กเลี้ยงยาก ขี้งอแง อ่อนไหวง่าย ขี้โมโห ไวต่อการกระตุ้น ในระยะยาวจะทำให้เด็กมีปัญหาด้านการปรับตัวทางสังคม อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคหัวใจ ความดัน และเบาหวาน เป็นต้น

90% ของอาการเครียด มาจากการนอนไม่เพียงพอ

เพราะการที่เราพักผ่อนน้อยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งออกมาเพื่อตอบสนองต่อความเครียด โรคนอนไม่หลับนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการผลิตคอร์ติซอล อีกทั้งยังทำให้อาการอื่นๆ แย่ลง เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หงุดหงิด ฯลฯ

การอดนอนจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและอยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายก็จะผลิตคอร์ติซอลออกมามากเกินความจำเป็น ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะฮอร์โมนชนิดนี้มีฤทธิ์สลายกลูโคส กรดไขมัน และโปรตีนด้วย จึงทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว ด้วยเหตุนี้คนที่เคร่งเครียดมากๆ จึงดูแก่กว่าวัย

คนที่มีคอร์ติซอลสูงควรจัดตารางการนอนให้เหมาะสม รวมถึงนอนในห้องที่มีอุณหภูมิไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และนอนในห้องที่เงียบ มืด และไม่มีแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ความเครียดเป็นสิ่งที่จัดการได้ยาก โดยเฉพาะแม่ท้อง แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของแม่ ๆ แน่นอนค่ะ เมื่อคนท้อง ร้องไห้ ก็ขอให้นึกถึงลูกในท้องมาก ๆ ดูแลตัวเองให้ดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ และไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง เพื่อวินิจฉัยอาการต่าง ๆ รวมทั้งประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์

ในโพสต่อไปเราจะมาให้บอกถึง วิธีที่คุณแม่ส่วนใหญ่ใช้แล้วนอนหลับสบาย หายเครียด โดยไม่ต้องทานยานอนหลับ